การปลูกโป๊ยเซียนและดูแลรักษา
แม้ว่าต้นโป๊ยเซียนจะสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของไทยก็ตาม แต่การปลูกโป๊ยเซียนให้สวยงามนั้น นอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว การดูแลรักษาก็นับว่ามีส่วนสำคัญ

ดินปลูก

ควรเป็นดินชั้นบนมีอินทรียวัตถุพวกเศษพืช โดยเฉพาะใบก้ามปูและใบทองหลางที่เน่าเปื่อยผุพังคลุกเคล้าอยู่ในดินจนเป็นเนื้อเดียวกัน ดินประเภทนี้จะอุ้มน้ำและระบายอากาศได้ดี ทำให้รากของโป๊ยเซียนแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว การใช้ดินปลูกที่แน่นทึบและมีน้ำขังอาจทำให้รากและต้นโป๊ยเซียนเน่าได้ เมื่อปลูกโป๊ยเซียนได้ระยะหนึ่งควรทำการพรวนดินรอบๆ กระถางปลูก ห่างจากโคนต้นประมาณ 2 นิ้ว พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกลงไปในดินประมาณ 1-2 ช้อนแกง และควรเปลี่ยนดินปลูกทุกปี

แสงแดด

โป๊ยเซียนเป็นไม้ที่ชอบแดด การปลูกถ้าให้โป๊ยเซียนได้รับแสงแดดประมาณ 60-70% จะดีมาก โดยเฉพาะแดดตอนเช้าถึงตอนสายก่อนเที่ยง ถ้าได้รับแสงแดด 100% ทั้งวันต้นจะแข็งแรง สีของดอกจะเข้มแต่เล็กลงกว่าเดิม นอกจากนี้ใบยังอาจจะไหม้เกรียมได้ ถ้าให้โป๊ยเซียนได้รับแดดน้อยหรืออยู่ในร่ม ดอกจะโต สีดอกไม่เข้ม ต้นไม่แข็งแรง ดังนั้นจึงควรจัดให้โป๊ยเซียนได้รับแสงแดดประมาณ 60-70% โดยใช้ตาข่ายพรางแสงช่วยก็จะดีมาก อย่างไรก็ตามในฤดูร้อนอากาศแห้งแล้งแดดจัดและร้อนมากเกินไปอาจทำให้โป๊ยเซียนเหี่ยวเฉาได้ ดังนั้นความชุ่มชื้นในอากาศก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโป๊ยเซียนเช่นกัน

การรดน้ำ

ตามปกติควรรดน้ำวันละครั้งในตอนเช้าและควรรักษาระดับความชื้นของดินให้ พอเหมาะไม่แฉะหรือแห้งเกินไป เช่น ถ้าเป็นช่วงฤดูแล้งดินปลูกแห้งมากควรรดน้ำทั้งเช้าและเย็น ฤดูฝนถ้าวันใดฝนตกก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำแต่ควรตรวจดูผิวดินในกระถางด้วย ทั้งนี้เพราะใบของโป๊ยเซียนอาจปกคลุมกระถางจนทำให้ฝนที่ตกลงมาไม่สามารถลงไป ในกระถางได้ ถ้าโป๊ยเซียนกำลังออกดอกควรหลีกเลี่ยงอย่าให้น้ำไปถูกดอกเพราะจะทำให้ดอก เน่าและร่วงเร็วกว่าปกติ สำหรับน้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำที่มีสภาพเป็นกลาง ถ้าน้ำมีสภาพเป็นกรดอาจผสมปูนที่ใช้กินกับหมากลงไปเล็กน้อยก็ได้ ถ้าเป็นน้ำประปาหรือน้ำบาดาลควรมีบ่อหรือถังพักน้ำไว้หลายๆ วันจึงจะนำมาใช้ได้

การตัดแต่งกิ่ง

โป๊ยเซียนบางต้นมีการแตกกิ่งก้านสาขามาก บางต้นมีลำต้นเดียวไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา ต้นที่มีกิ่งก้านสาขามากจะเป็นพุ่มทึบแสงแดดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้โป๊ยเซียนออกดอกน้อยและมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งหลบซ่อนของโรคและแมลงศัตรูพืช ควรตัดกิ่งก้านออกบ้างเพื่อให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก การตัดควรตัดให้ชิดลำต้นไม่ควรเหลือตอกิ่งไว้ กิ่งที่เหลือไว้ควรให้มีรูปทรงสวยงามเป็นไปตามธรรมชาติ หลังจากตัดกิ่งออกแล้วควรใช้ปูนแดงทาบริเวณรอยตัดเพื่อป้องกันเชื้อรา ส่วนกิ่งที่ตัดออกอาจนำไปขยายพันธุ์ต่อไป สำหรับโป๊ยเซียนที่มีลำต้นเดี่ยวไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน ถ้ากิ่งสูงมากเมื่อโดนลมแรงๆ อาจทำให้ต้นหักได้ควรตัดยอดไปขยายพันธุ์เป็นต้นใหม่ ส่วนโคนที่เหลือก็จะแตกกิ่งก้านออกมาใหม่

การให้ปุ๋ย

เมื่อปลูกโป๊ยเซียนเป็นเวลานานธาตุอาหารในดินก็จะถูกใช้ไปเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องเพิ่มธาตุอาหารหรือปุ๋ยลงไปในดิน การใส่ปุ๋ยให้กับโป๊ยเซียนสามารถใส่ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์อาจเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เช่น มูลวัว มูลสุกร มูลไก่ มูลค้างคาว รวมทั้งปุ๋ย กทม. ปุ๋ยเหล่านี้ทำให้ดินร่วนซุย ระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ควรใส่เดือนละครั้งสลับกับการใส่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีควรใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยละลายช้า ปุ๋ยเกล็ดและปุ๋ยน้ำโดยปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด การให้ปุ๋ยเคมีควรให้ในช่วงเช้าและควรงดน้ำก่อนให้ปุ๋ย 1 วันเพื่อกระตุ้นให้รากดูดปุ๋ยได้มากขึ้น ควรรดหรือโรยเฉลี่ยรอบๆ ต้นเดือนละ 1-2 ครั้ง สำหรับไม้ที่ปลูกใหม่ๆ ยังไม่ควรให้ปุ๋ยเคมีเพราะระบบรากยังจับตัวกับดินไม่ดีพอประกอบกับรากอาจมี การฉีกขาด เนื่องจากการเปลี่ยนดินทำให้ปุ๋ยกระทบรากโดยตรงและเร็วเกินไป อาจทำให้โป๊ยเซียนตายได้ การใส่ปุ๋ยเพื่อให้โป๊ยเซียนออกกิ่งหรือดอกมีวิธีปฏิบัติดังนี้
  • การปลูกเลี้ยงเพื่อให้แตกกิ่ง การทำให้โป๊ยเซียนคายน้ำน้อยๆ จะทำให้โป๊ยเซียนไม่ออกดอกแต่จะแตกกิ่งแทน ดังนั้นสถานที่ปลูกจึงควรเป็นที่อับลม มีลมพัดผ่านน้อย มีแสงแดดไม่มากหรือพรางแสงด้วยที่พรางแสงประมาณ 60-70% มีความชื้นแต่ไม่แฉะ การวางกระถางก็ควรวางให้สูงจากพื้นเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้การยืดช่วงเวลากลางวันให้ยาวออกไปโดยการใช้หลอดไฟ Day Light 60-100 วัตต์ ส่องให้กับต้นโป๊ยเซียนในเวลากลางคืนก็จะช่วยให้ต้นโป๊ยเซียนออกกิ่งได้ดีขึ้น สำหรับดินที่ปลูกควรผสมปุ๋ยคอกมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลไก่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็ควรใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เช่น 15-5-5, 25-7-7 ในปริมาณน้อยๆ ทุก 7-10 วัน
  • การปลูกเลี้ยงเพื่อให้ออกดอก จะตรงข้ามกับกับการปลูกเพื่อให้แตกกิ่ง คือการวางกระถางควรวางให้สูงจากพื้นประมาณ 60-70 ซม. เพื่อให้อากาศพัดผ่านก้นกระถางได้สะดวก เมื่อโป๊ยเซียนคายน้ำมากจะทำให้ออกดอก แสงแดดควรให้มากกว่า 50% หรือพรางแสงด้วยที่พรางแสง 40-50% แสงแดดจะช่วยให้สีของดอกมีสีเข้มขึ้น แต่ไม่ควรให้โป๊ยเซียนถูกแสงแดด 100% หรือถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้เกรียมได้ ดินปลูกไม่ควรมีปุ๋ยคอกมูลสัตว์มากนัก ควรใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่มีธาตุฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง เช่น 12-24-12, 8-24-24 จะเป็นปุ๋ยที่ให้ทางดินหรือทางใบก็ได้ การรดน้ำก็ไม่ควรรดให้แฉะเกินไป เพราะจะทำให้ก้านส่งดอกยาว ออกดอกซ้อนและดอกจะโรยเร็ว นอกจากนี้ก็ไม่ควรรดน้ำให้ถูกดอกเพราะจะทำให้เกสรดอกเน่าดำหมดความสวยงามได้

การปลูกโป๊ยเซียนและดูแลรักษา

                 วิธีปลูก ต้นวาสนาอธิษฐาน

 

วิธีปลูก ต้นวาสนาอธิษฐาน  (เดลนิวส์)

        คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นวาสนาอธิษฐานไว้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความสุข สมหวังในชีวิต และเชื่อว่าบ้านใดที่ปลูกต้นวาสนาอธิษฐานจะทำให้มีโชควาสนา เนื่องจากเป็นไม้เสี่ยงทาย คือ ถ้าหากผู้ใดดูแลรักษารดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยอย่างดี จนต้นวาสนาออกดอก จะช่วยให้คนในครอบครัวนั้นได้รับโชคลาภ

        เพื่อ เป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นวาสนาอธิษฐานไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ปลูกควรปลูกในวันอังคาร เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทางใบ ให้ปลูกในวันอังคาร ถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นสภาพสตรี เพราะวาสนาอธิษฐานเป็นชื่อที่เหมาะสมกับสุภาพสตรี
วิธีการปลูก 

        สำหรับปลูกในแปลง เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตราส่วน 1 : 2 ผสมดินปลูก

        ส่วนการปลูกในกระถาง เพื่อประดับภายในและภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 10-18 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 : 1 ผสมดินปลูก ควรเปลี่ยนกระถาง 1-2 ปี / ครั้ง หรือแล้วแต่ความเหมาะสม

การดูแลรักษา
         ต้นวาสนาอธิษฐาน ต้องการแสงแดดอ่อนรำไรจนถึงแสงแดดจัดและควรรดน้ำอย่างน้อย  5-7 วัน/ครั้ง ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 5-6 ครั้ง ลักษณะพิเศษอีกอย่างอยู่ที่ใบ คือถ้าส่วนใบได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ ทำให้สีสรรของใบสวยงามยิ่งขึ้น

        ปลูกต้นวาสนาอธิษฐานแล้วขอให้มีความสุข ได้โชค ได้ลาภ กันทั่วหน้า


วิธีปลูก ต้นวาสนาอธิษฐาน

                วิธีปลูกกระเทียมในสวนผักแบบง่าย ๆ


บ้านไหนที่มีพื้นที่กว้างพอสำหรับทำสวนผักปลอดสารพิษเอาไว้รับประทานเอง คงจะรู้สึกดีน่าดู เพราะไม่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับบรรดาสารพิษตกค้างในผักที่ขายตามท้องตลาด ทั่วไป และคงจะเป็นบ้านที่น่าอิจฉามาก ๆ เลยทีเดียวนะคะ แต่ถ้าตอนนี้สวนผักของคุณมีผักสวนครัวเกือบครบทุกชนิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ต้นหอม ผักชี ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว กะเพราและโหระพา แต่ยังขาดกระเทียมอยู่อีกอย่าง และกำลังอยากลองปลูกกระเทียมดูบ้าง แต่ยังไม่รู้วิธีปลูกกระเทียมเลย ถ้าอย่างนั้นมาดูวิธีปลูกกระเทียมแบบง่าย ๆ ตามนี้กันเลยจ้า

สถานที่ปลูก


          เราสามารถปลูกกระเทียมได้ในดินทุกชนิด แต่ถ้าปลูกในดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดีจะดีที่สุด และควรปลูกในที่ที่แสงแดดส่องถึงอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวันด้วย เพราะกระเทียมเป็นพืชที่ชอบแดดมาก ๆ และไม่ควรปลูกในดินที่เป็นกรดเกินไป แต่ถ้าไม่มั่นใจจะปรับหน้าดินด้วยการใส่ปูนขาวลงไปในดินก่อนปลูกกระเทียม ประมาณ 15 วัน และใส่ปุ๋ยคอกไปด้วยก็ได้

ควรปลูกกระเทียมพันธุ์ไหน

          ส่วนมากบ้านเราจะนิยมปลูกกระเทียมอยู่ 3 พันธุ์ด้วยกัน คือ

     กระเทียมพันธุ์เบา มีลักษณะกลีบกระเทียมขนาดเท่าหัวแม่มือ สีขาว มีกลิ่นฉุน และรสจัด อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 75-90 วัน

     กระเทียมพันธุ์กลาง ลักษณะกลีบกระเทียมมีขนาดกลาง สีออกม่วง อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน นิยมปลูกในภาคเหนือ

     กระเทียมพันธุ์หนัก ซึ่งกลีบกระเทียมจะใหญ่ มีสีออกชมพู อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 150 วัน

          แต่ลักษณะของกระเทียมที่เราจะนำมาปลูกก็มีได้ทั้งแบบเป็นลำต้น คือ โรยเมล็ดพันธุ์และเลี้ยงให้โตเพื่อกินลำต้นและใบ และแบบปลูกด้วยกลีบกระเทียม เอาไว้นำกลีบมาประกอบอาหารอย่างที่เราคุ้นเคยกัน

ฤดูที่ควรเพาะปลูก

          กระเทียมเป็นพืชที่ชอบทั้งอากาศเย็นและแสงเแดดจัด ๆ ยิ่งถ้าได้ปลูกในที่ที่มีอุณภูมิต่ำมาก ๆ เช่น ยอดดอย ในภาคเหนือของประเทศ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ หรือทางอีสานก็จะดีมาก ดังนั้นจึงเหมาะจะปลูกในช่วงหน้าหนาว ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และอีกช่วงคือ เดือนธันวาคม-มกราคม เนื่องจากกระเทียมเป็นพืชที่โตเร็ว เก็บเกี่ยวได้ภายใน 1 เดือน จึงต้องปลูก 2 ช่วงแบบนี้

วิธีการปลูกกระเทียม

          หากคุณจะปลูกกระเทียมด้วยกลีบกระเทียม เริ่มแรกก็ควรเพาะให้กลีบกระเทียมส่วนนอกงอกรากออกมาก่อน จากนั้นก็นำไปปักลงดิน โดยให้ส่วนรากอยู่ลึกลงไปในดินประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบกระเทียม หลังปลูกควรคลุมด้วยฟางเพื่อควบคุมวัชพืช และเพื่อรักษาความชื้นให้หน้าดิน รวมทั้งป้องกันความร้อนให้ต้นอ่อนของกระเทียมด้วย จากนั้นก็ต้องหมั่นรดน้ำให้พอเพียง โดยควรรดน้ำทุก ๆ 7-10 วัน และก็ค่อยหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำสมอมาเรื่อย ๆ แต่ไม่ควรเกิน 10 ครั้ง ต่อการปลูกกระเทียม 1 ฤดูกาลเก็บเกี่ยว และก่อนจะเก็บเกี่ยวกระเทียมประมาณ 2-3 สัปดาห์ควรจะงดให้น้ำด้วยค่ะ

          เนื่อ งจากกระเทียมเป็นพืชที่มีระยะการเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น จึงไม่มีปัญหาเรื่องศัตรูพืช และเรื่องแมลงเท่าไหร่ แต่เห็นแบบนี้กระเทียมก็เป็นพืชล้มลุก ที่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้หลังระยะเวลาพักฟื้น 5-6 เดือน แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีสภาพอากาศและมีอุณหภูมิที่เหมาะสมเท่านั้น กระเทียมถึงเจริญเติบโต

วิธีปลูกกระเทียมในสวนผักแบบง่าย ๆ

            ต้นไผ่ เพราะอะไรจึงไม่ควรปลูกไว้ในบ้าน

การปลูกต้นไม้ในสวน หรือรอบ ๆ บริเวณบ้านดูเป็นเรื่องดี ๆ ที่ไม่น่าจะมีกฎหรือข้อห้ามอะไรที่ต้องระวัง แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ต้องดูลักษณะของต้นไม้ที่จะนำมาปลูกในบ้านบ้าง เผลอ ๆ บางคนอาจจะคำนึงไปถึงเรื่องฮวงจุ้ย และความเป็นสิริมงคลด้วย ทำให้ต้องใส่ใจคัดเลือกต้นไม้มาปลูกอย่างพิถีพิถันไม่น้อยเลยทีเดียว อย่าง "ต้นไผ่" ที่ใครหลายคนกำลังคิดจะปลูกกันอยู่ ก็คงต้องลองไตร่ตรองให้ดีอีกที เพราะเหตุผลต่อไปนี้ที่คอยคัดค้านว่า การปลูกต้นไผ่ในบ้านไม่ใช่เรื่องที่น่าทำเท่าไรนักนะจ๊ะ

1. อาจเติบโตเลยขอบเขตของบ้าน

          เหตุผลแรก ๆ ที่คนอยากจะปลูกต้นไผ่ก็เพื่อจะทำเป็นรั้วต้นไม้กลาย ๆ และการมีรั้วบ้านเป็นต้นไผ่ก็สวยงามคลาสสิกอยู่ไม่น้อย แต่เหตุผลที่ไม่ควรจะปลูกต้นไผ่เป็นรั้วก็เด็ดขาดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากต้นไผ่เป็นไม้ที่โตเร็วมาก แถมยังแผ่กิ่งก้านสาขาได้กว้างไกล จนอาจจะเลยขอบเขตของบ้านไประรานพื้นที่ข้างบ้านได้ง่าย ๆ ยิ่งถ้าได้ปลูกต้นไผ่ในบริเวณที่มีน้ำและความชื้นพอดี ๆ ก็จะยิ่งทำให้ต้นไผ่เติบโตเร็วยิ่งขึ้นไปอีก จนอาจจะทำให้รั้วบ้านของคุณดูรกรุงรัง ที่สำคัญต้นไผ่ใบไผ่ที่ตกไปอยู่ในเขตของเพื่อนบ้าน อาจเป็นสาเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งได้ด้วยนะ

2. ก่อให้เกิดปัญหาในระบบนิเวศ

          ต้นไผ่เติบโตเร็ว ก็เลยมีโอกาสที่พืชชนิดอื่น ๆ ที่เราไม่ต้องการปลูกมาแอบอาศัยอยู่ได้ง่าย ๆ และก็เป็นสาเหตุของการเกิดวัชพืชอีกหลายชนิด รวมทั้งการที่กิ่งก้านของต้นไผ่ยื่นออกไปด้านนอก ก็ยังเปิดโอกาสให้เกิดความหลากหลายของพืชอีกมากมาย จนในที่สุดก็จะกลายเป็นดงต้นไม้ที่ดูยุ่งเหยิงไม่สวยงาม และผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า การป้องกันต้นไผ่ยื่นออกไปใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง มีวิธีการที่ซับซ้อน และไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่าไร เพราะต้องล้อมบริเวณด้วยพลาสติกโพลิโพรพิลีน (Polypropylene) หรือไม่ก็ต้องสร้างกำแพงสูง ๆ เอาไว้กันกิ่งไผ่ยื่นออกนอกอาณาเขตไป

3. ถอนยาก

          ปลูกต้นไผ่อาจจะเป็นเรื่องง่าย ต้นไผ่เองก็โตเร็วทันใจ แต่วันไหนที่ไม่ต้องการมีต้นไผ่ไว้ในบ้านแล้ว คราวนี้ก็น่าจะลำบาก เพราะต้นไผ่มีความทนทานมาก ขุดถอนรากถอนโคนก็ไม่ค่อยจะยอมหลุดออกไปง่าย ๆ ถอนไปแล้วไม่นานก็โตขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ต้องหมั่นถอนกันบ่อย ๆ หนำซ้ำต้นหญ้า และใบไผ่ก็ค่อนข้างเยอะด้วย กว่าจะเก็บจะกวาดให้เกลี้ยงก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลยนะ

4. ต้องใช้สารเคมีกำจัดต้นไผ่

          สำหรับใครที่ต้องการปลูกต้นไม้ด้วยวิธีออร์แกนิก และไม่อยากจะใช้สารเคมีในสวนเลยแม้แต่น้อยก็อาจจะล้มเลิกความคิดจะปลูกต้น ไผ่ด้วยเหตุผลในข้อนี้เลยทีเดียว เพราะอย่างที่บอกกันไปว่าการกำจัดต้นไผ่ให้สิ้นซากเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าอยากจะให้ง่ายขึ้นก็ต้องใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดถึงจะอยู่หมัด และต้องใช้ในปริมาณมากด้วย แบบนี้แนวทางการทำสวนแบบออร์แกนิกจะมีมลทินกันก็คราวนี้ล่ะ

5. ต้นไผ่มีหลายชนิดจนอาจจะสับสน

          พันธุ์ต้นไผ่มีอยู่มากกว่า 1,000 ชนิด ซึ่งหากจะปลูกจริง ๆ ก็ควรจะเลือกพันธุ์ที่เป็นไผ่พุ่ม มากกว่าไผ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา อีกทั้งไม่ควรจะเลือกปลูกไม้ไผ่ผลัดใบด้วย ซึ่งความหลากหลายของสายพันธุ์ไผ่แบบนี้ก็อาจจะทำให้เราเลือกไม่ถูก เสี่ยงต่อการปลูกไผ่ผิดชนิด หรือไม่ตรงกับความต้องการ จนทำให้การปลูกต้นไผ่ของคุณกลายเป็นความผิดพลาดที่แก้ไขยาก เพราะกว่าจะรู้ตัวว่าปลูกไผ่ผิดชนิด ก็ต้องรอจนต้นไผ่โตพอสมควร คราวนี้ถ้าอยากจะถอนต้นไผ่ทิ้งก็ลำบากแล้ว

          ถึง ต้นไผ่จะเป็นพืชที่ไม่ควรปลูกในสวนที่บ้าน แต่ก็ยังมีต้นไม้ให้เลือกปลูกประดับสวนและบ้านอีกมากมาย ฉะนั้นอกหักจากต้นไผ่แล้วก็ไม่ต้องเสียใจไป ลองมองหาต้นไม้ชนิดอื่นที่สวยงามต้นอื่นก็ได้เนอะ

ต้นไผ่ เพราะอะไรจึงไม่ควรปลูกไว้ในบ้าน