การปลูกกะหล่ำดอก


                                                           การปลูกกะหล่ำดอก

การเพาะกล้า 

ไถดินแปลงเพาะกล้าให้ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ตากทิ้งไว้ 5-7 วัน แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกให้ทั่ว หว่านเมล็ดให้กระจายอย่างสม่ำเสมอ หว่านกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือดินผสมละเอียด หนา0.6-1 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกล้างอกเริ่มมีใบจริง ถอนแยกต้นที่อ่อนแอและขึ้นเบียดเสียดกันแน่นเกินไปออก ให้มีระยะห่างระหว่างต้น 5-8 เซนติเมตร ช่วงนี้ควรให้ปุ๋ยพวกสารละลายสตาร์ทเตอร์โซลูชั่นแก่ต้นกล้า และหมั่นตรวจดูแลป้องกันโรคแมลงที่เกิด เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 3-4 ใบ อายุได้ประมาณ 30-40 วัน ต้นสูงประมาณ 10-12 เซนติเมตร จึงย้ายกล้าลงแปลงปลูก 
วิธีปลูก 

ก่อนย้ายต้นกล้าให้รดน้ำบนแปลงเพาะกล้าให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ ควรย้ายกล้าในวันที่แดดไม่จัด และย้ายในเวลาเย็นหรือช่วงอากาศมืดครึ้ม เพื่อไม่ให้ต้นกล้าคายน้ำมากไปทำให้เหี่ยวตายได้ 

กะหล่ำดอกมี ระบบรากตื้น การเตรียมดินเพียงขุดดินให้ลึก 15-20 เซนติเมตร ตากดินไว้ 5-7 วัน เก็บเศษหญ้า เศษวัชพืชออกให้หมด ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วคลุกเคล้าลงไปในดิน พรวนย่อยหน้าดินให้มีขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระหว่างแถว 60 เซนติเมตร กลบดินกดบริเวณโคนต้นให้แน่น คลุมโคนต้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้งเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน รดน้ำให้ชุ่ม ถ้ามีแสงแดดจัดควรหาที่บังแดดให้ อาจใช้ทางมะพร้าวคลุมไว้ 3-5 วัน 
การให้น้ำ 

ในช่วงแรกไม่ต้องให้น้ำมากนัก เพียงให้ดินมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ ถ้าแฉะเกินไปจะเป็นโรคเน่าเละได้ง่าย เมื่อกะหล่ำดอกโตขึ้นก็ให้น้ำมากขึ้นเพราะการระเหยน้ำเกิดเร็วขึ้น โดยให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เวลาเช้าและเย็น อย่าปล่อยให้กะหล่ำดอกขาดน้ำ เพราะจะชะงักการเจริญเติบโตและกระทบกระเทือนต่อการสร้างดอก ทำให้คุณภาพและปริมาณดอกลดลง ในฤดูแล้งควรมีการคลุมดินด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง จะช่วยให้รักษาความชื้นในดินไว้ได้ดี 
การใส่ปุ๋ย 


ในระยะแรกควรมีการให้ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียมซัลเฟตหรือยูเรีย จากนั้นจึงใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 ในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และครั้งที่ 2 ใส่เมื่อกะหล่ำดอกอายุ ประมาณ 30-40 วันหลังย้ายปลูก โดยโรยใส่ข้างต้นแล้วพรวนดินกลบ การพรวนดินควรทำในระยะแรกขณะที่วัชพืชยังเล็กอยู่พร้อมกับการกำจัดวัชพืช พร้อมกันไปด้วย 

การปลูกกะหล่ำดอก

                                                                 การปลูกชมพู่

                                                            การปลูกชมพู่ 
การปลูก 
1. ใช้ต้นพันธุ์ชมพู่ที่ได้จาการตอนกิ่ง หรือปักชำ 
2. ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน 
3. ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 ซม. 
4. ผสมดินปุ๋ยคอกจำนวน 5 กิโลกรัม และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตจำนวน 500 กรัม เข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม 
5. ยกถุงกล้าต้นไม้วางในหลุมโดยระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย 
6. ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา) 
7. ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก 
8. กลบดินที่เหลือลงในหลุม 
9. กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น 
10. ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมโยก 
11. หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่นฟางข้าว หญ้าแห้ง 
12. รดน้ำให้ชุม 
13. ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด 
ระยะปลูก 


6x6 เมตร (แบบยกร่อง 5x7.5 เมตร) 


จำนวนต้น/ไร่ 


45 ต้น/ไร่ ( แบบยกร่องปลูกได้ประมาณ 40 ต้น/ไร่) 



การดูแลรักษา 
การให้ปุ๋ย 

1. บำรุงต้น ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 หรือ 15-15-15 
2. สร้างตาดอก ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 
3. บำรุงผล ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 
4. ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ส่วนปริมาณการใช้ปุ๋ย 1 - 2 กิโลกรัม / ต้น / ไร่ สำหรับต้นชมพู่อายุ 8 ปี และเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามอายุและทรงพุ่ม 



การให้น้ำ 


- ระยะเริ่มปลูกควรให้น้ำวันละครั้ง 
- ระยะก่อนติดผล ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง โดยให้แต่ละครั้ง จนดินมีความชุ่มชื้นเต็มที่ 
- ระยะติดผลควรให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ถ้าดินเก็บความชื้นไม่ดีควรให้ทุกวันหรือวันเว้นวัน ควรให้น้ำเต็มแอ่งรอบต้น และควรงดน้ำก่อนเก็บผลประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้ชมพู่มีความหวานขึ้น

การปลูกชมพู่

                                                            การปลูกส้มเขียวหวาน

                                                  การปลูกส้มเขียวหวาน
ขั้นตอนการปลูก

1. วัดระยะปลูกและกำหนดจุดปลูก โดยแถวปลูกควรอยู่บริเวณกึ่งกลางแปลงแต่ละแปลง
2. ขุดหลุมขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกกับดินที่ขุดขึ้นมา อัตราต้นละ 10 กิโลกรัม พร้อมกับปุ๋ยรอกฟอตเฟต 0.5 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ประมาณ 10 กรัม
3. แหวกดินทำหลุมให้มีขนาดโดกว่าถุงหรือกระถางที่เลี้ยงต้นพันธุ์
4. ฉีกถุงออก โดยก่อนฉีกถุงให้ใช้มือบีบดินในถุงให้แยกออกจากกัน
5. เขย่าวัสดุปลูกที่ติดอยู่กับรากออกให้หมด ใช้กรรไกรตัดรากแก้วส่วนที่ขดงอออก พร้อมทั้งตัดส่วนยอดและใบออกบ้าง เพื่อให้เกิดการสมดุลย์กับรากที่เหลือ
6. วางต้นพันธุ์ลงในหลุม จัดรากฝอยที่มีอยู่เป็นชั้นๆ แล้วแผ่รากในแต่ละชั้นออกรอบข้าง
7. ใช้ดินกลบรากไล่ขึ้นมาเป็นชั้น โดยให้รากฝอยชั้นบนสุดอยู่ต่ำกว่าระดับดินบนประมาณ 1 เซนติเมตร
8. ใช้ดินผสมปุ๋ยหมักอัตราส่วน 1 : 1 กลบโคนเป็นรูปกระทะคว่ำกว้างประมาณ 1 เมตร และสูงประมาณ 20 เซนติเมตร
9. ผูกต้นติดกับหลักป้องกันการโยกคลอนแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยมีข้อควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้
1. ดินเป็นกรดจัด (pH ต่ำกว่า 5.0) ควรใส่ปูนขาวหรือปูนมาร์ล หรือเปลือกหอยเผาหรือโดโลไมท์ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น หรือตามผลการวิเคราะห์ดิน โดยหว่านให้สม่ำเสมอรอบบริเวณทรงพุ่ม
2. การใส่ปุ๋ยในปีแรก ควรใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 20-10-10 หรือ 25-7-7 หรือ 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 อัตรา 1: 1 ปริมาณ 0.5-1 กิโลกรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 4-6 เดือนต่อครั้ง และปุ๋ยอินทรีย์ 10-20 กิโลกรัมต่อต้น ใ่ส่ครั้งเดียวช่วงปลายฤดูฝน
3. ในปีที่ 2-4 ใส่ปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือ 25-7-7 หรือ 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 ปริมาณ 1-3 กิโลกรัมต่อต้น โดยใส่ 3-4 เดือนต่อครั้ง และปุ๋ยอินทรีย์ 10-20 กิโลกรัมต่อต้น ใ่ส่ครั้งเดียวช่วงปลายฤดูฝน
4. เมือส้มอายุ 4 ปีขึ้นไป ซึ่งส้มจะเริ่มให้ผลผลิต การใส่ปุ๋ยควรปฏิบัติดังนี้
4.1 ช่วงก่อนออกดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อต้น และพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อเพิ่มธาตุอาหารรองและอาหารเสริม
4.2 ในระยะติดผล อาจมีการให้ปุ๋ยธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี ทองแดง โบรอน และแมงกานีส เป็นต้น โดยพ่นให้ทางใบ
4.3 ช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ปริมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
4.4 หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือ 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 อัตรา 1:1 ปริมาณ 1-3 กิโลกรัมต่อต้น พร้อมพ่นปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมพร้อมปุ๋ยอินทรีย์ 20-50 กิโลกรัมต่อต้น
การให้น้ำ
การให้น้ำในสวนส้มมีหลักการดังนี้
1. ควรให้น้ำทันทีประมาณ 5-10 แกลลอน เมื่อปลูกเสร็จ และให้น้ำอีกครั้งภายใน 2-3 วันหลังจากครั้งแรก
2. หลังจากนั้นให้น้ำทุกๆ 2-5 วัน จนกว่าส้มจะตั้งตัวได้ ข้อสำคัญอย่าปล่อยให้ต้นส้มอดน้ำจนต้นเฉา

3. วิธีการให้น้ำ อาจใช้สายยางระบบน้ำหยด มินิสปริเกอร์ หรือเรือพ่นน้ำ หรือบิ๊กกัน ตามความเหมาะสม

การปลูกส้มเขียวหวาน

 การปลูกมะปราง

การปลูกมะปราง

การปลูก 

ฤดู ที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกมะปรางควรปลูกต้นฤดูฝน ส่วนเวลาปลูกนั้น ควรปลูกในตอนเช้าหรือตอนเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อน วิธีปลูกให้นำกิ่งต้นพันธ์วางปากหลุม ถ้าเป็นกิ่งทาบควรใช้มีดกรีดพลาสติกที่พันโคนต้นออก แต่ถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ที่ชำอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ ใช้มีดกรีดด้านข้างก้นถุงโดยรอบ ก้นถุงพลาสติกจะหลุดออก ต่อจากนั้นยกต้นมะปรางไปปลูกลงหลุม กลบดินลงหลุมเล็กน้อย แล้วดึงถุงดำที่เหลือขึ้นมา ใช้มีดตัดออก กลบดินปลูกลงหลุมให้สูงกว่าระดับเดิมเล็กน้อย ใช้มือกดรอบ ๆ โคนต้นให้แน่น นำหลักไม้ไผ่มาปักโคนต้น ผูกต้นมะปรางกับหลักเพื่อกันลมโยก หลังจากนั้นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ (นรินทร์,2537) 

การปฏิบัติดูแลรักษาต้นมะปราง 

ในการปลูกมะปรางเพื่อการค้า ผู้ปลุกควรปฏิบัติดูแลรักษามะปรางดังต่อไปนี้ 

1.การให้น้ำ โดยปกติมะปรางเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างทนทานต่อความแห้งแล้ง แต่ถ้ามะปรางขาดน้ำก็จะไม่มีการแตกยอดใหม่ ทำให้มะปรางชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นมะปรางจึงมีความจำเป็นในการใช้น้ำ ในระยะแรกปลูก 2-3 เดือน ควรมีการให้น้ำให้ชุ่มอยู่เสมอเฉลี่ย 3-5 วันต่อครั้ง อายุ 3-6 เดือน ให้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง เว้นแต่ช่วงฝนตกงดการให้น้ำมะปรางที่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ควรมีการรดน้ำ 15-20 วันต่อครั้ง (นรินทร์,2537) 

ประเภท ของน้ำที่ใช้กับต้นมะปรางนั้น น้ำที่ได้มาจากแม่น้ำ, ลำคลอง, หนอง, บึง เมื่อนำมารดจะได้ประโยชน์มากกว่าน้ำบาดาล เพราะมีแร่ธาตุอาหารปนมาด้วย โดยปกติแล้วน้ำที่จะนำมารดให้กับต้นมะปราง ควรมีค่า pH 6.5-7.0 กล่าวคือควรมีสภาพเป็นกลาง (ทวีศักดิ์,2537) 

2.การใส่ปุ๋ย มะปรางขึ้นได้ในดินหลายชนิดทั้งดินเหนียว ดินร่วน และดินร่วนปนทราย ถ้าปลูกมะปรางในแหล่งอุดมสมบูรณ์สูง มีธาตุอาหารอย่างพอเพียง ต้นมะปรางจะเจริญได้ดี ปัจจุบันแหล่งดินที่อุดมสมบูรณ์หายาก วิธีที่จะปรับปรุงคุณภาพของดินคือการใส่ปุ๋ยบำรุงดิน (นรินทร์,2537) 

ในการใส่ปุ๋ยให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักเป็นหลัก ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นรองโดยถือว่า 

1.ระยะพืชกำลังเจริญเติบโตควรใช้ปุ๋ยที่มี N-P-K ในสัดส่วน 1:1:1 เช่นปุ๋ยเกรด 15-15-15 เพื่อเสริมสร้างและทดแทนส่วนที่พืชนำไปใช้ในการแตกยอด ใบ กิ่งก้าน 

2.ระยะใกล้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของฟอสฟอรัสสูง เช่นปุ๋ยเกรด 8-24-24 

3.ระยะที่พืชติดผลแล้ว ให้ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียม เช่นปุ๋ยเกรด 13-13-21 หรือ 12-17-2 เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต (ฐานเกษตรกรรม,2538) 

3.การพรวนดินและคลุมโคนต้น ควรหาฟางข้าวหรือเศษหญ้ามาคลุมบริเวณโคนต้นที่ทำการพรวนดินเพื่อรักษาความ ชื้น การพรวนดินรอบ ๆ โคนต้นควรทำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง คือช่วงต้นฝน ปลายฤดูฝน(ต้นฤดูหนาว) และฤดูร้อน ถ้าเป็นไปได้การพรวนดินและคลุมโคนต้นนั้นควรทำพร้อม ๆ กันกับการใส่ปุ๋ย 

4.การกำจัดวัชพืช วิธีป้องกันกำจัดวัชพืชดำเนินการได้หลายวิธี ได้แก่ การถากหญ้ารอบโคนต้น การใช้มีดฟันหญ้า การใช้เครื่องตัดหญ้า การใช้สารเคมีคลุมวัชพืชหรือฆ่าวัชพืช 

5.การพรางแสง มะปรางขึ้นได้ทั้งในที่มีแดดรำไรและในแสงแดดจ้า แต่การปลูกในที่พรางแสง จะมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลุกกลางแจ้ง ฉะนั้นการสร้างสวนมะปรางเพื่อการค้า ในระยะ 1-3 ปีแรก ควรมีการปลุกกล้วยเป็นพืชแซม 

6.การตัดแต่งกิ่ง ควรมีการตัดแต่งกิ่งมะปราง กิ่งที่หัก กิ่งที่เป็นโรค หรือกิ่งที่แห้งตายออกทุกปีด้วย 

7.การตัดแต่งผล มะปรางที่มีการออกดอกเป็นช่อยาว 8-15 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งอาจติดผลตั้งแต่ 1-5 ผล ควรมีการตัดแต่งผลมะปรางที่มากเกินไปออก เหลือช่อละ 1 ผล 

8.การห่อผล วิธีห่อผล ใช้กระดาษแก้วสีขาวที่ใช้ทำว่าว หรืออาจใช้กระดาษฟางสีขาว พับเป็นถุงเล็ก ๆ นำไปห่อมะปรางตั้งแต่ผลยังเขียว การห่อผลจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง 

9.การเก็บเกี่ยว ในการเก็บเกี่ยวมะปรางแต่ละครั้ง ไม่ว่าผลแก่หรือผลอ่อน ควรเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง ถ้าไม่ระวังผลมะปรางอาจจะกระทบกระเทือน ผลจะช้ำ 

การปลูกมะปราง